เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 2. ปัญจังคสูตร
5. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยาก
ให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่
ภิกษุนั้น
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบ
ด้วยองค์ 5 ไม่นานนัก ก็จะทำให้แจ้ง ฯลฯ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เสนาสนสูตรที่ 1 จบ

2. ปัญจังคสูตร
ว่าด้วยองค์ 5
[12] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ 5 ประกอบด้วยองค์ 5 บัณฑิตเรียกว่า
ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์1 เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้
ภิกษุผู้ละองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ละกามฉันทะ(ความพอใจในกาม)
2. เป็นผู้ละพยาบาท(ความคิดร้าย)
3. เป็นผู้ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
4. เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
5. เป็นผู้ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ
ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่าอเสขบุคคล (ที.สี.อ. 248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :19 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 2. ปัญจังคสูตร
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์(กองศีล)ที่เป็นอเสขะ1
2. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์(กองสมาธิ)ที่เป็นอเสขะ
3. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์(กองปัญญา)ที่เป็นอเสขะ
4. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์(กองวิมุตติ)ที่เป็นอเสขะ
5. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์2(กองวิมุตติญาณทัสสนะ)
ที่เป็นอเสขะ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ 5 ประกอบด้วยองค์ 5 บัณฑิตเรียกว่า ผู้
ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้
กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
และ วิจิกิจฉา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง
ภิกษุผู้เช่นนั้นสมบูรณ์ด้วยสีลขันธ์ที่เป็นอเสขะ
สมาธิขันธ์ที่เป็นอเสขะ ปัญญาขันธ์ที่เป็นอเสขะ
วิมุตติขันธ์ที่เป็นอเสขะ
และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นอเสขะ
ภิกษุนั้นแลผู้ละองค์ 5 ได้ สมบูรณ์ด้วยองค์ 5
ภิกษุนั้นแล บัณฑิตเรียกว่า ‘ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล’
ในธรรมวินัยนี้
ปัญจังคสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 อเสขะ หมายถึงธรรมระดับโลกุตตระของพระอเสขะ คือ พระอรหันตขีณาสพ (องฺ.ทสก.อ. 3/12/320)
2 วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณเป็นขันธ์ระดับโลกิยะ ส่วนขันธ์ที่เหลือข้างต้นเป็น
ขันธ์ระดับโลกุตตระ (องฺ.ติก.อ. 2/58/160, องฺ.ทสก.อ. 3/12/320)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :20 }